26 Fri , April 2024

ผักหวานป่า การแพร่กระจายพันธุ์

     ผักหวานป่าถูกขนานนามว่าเป็นราชาแห่งผักพื้นบ้าน  ทรงคุณค่าทั้งรสชาติและคุณสรรพคุณที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมากมาย ผักหวานป่าแพร่และขยายพันธุ์ในป่าเขตร้อนทั่วไปโดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็น ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซียและพม่าสำหรับผักหวานป่าในประเทศไทยนั้น การแพร่พันธุ์ของผักหวานป่า ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจะแพร่พันธุ์ด้วยเมล็ด พื้นที่ของดงผักหวานป่าขนาดใหญ่ที่สุดจะอยู่ในเขตป่าภาคเหนือ จะเชื่อมต่อกันผ่านแนวสันเขาที่ทอดยาวในเขตป่าภาคเหนือเกือบทุกจังหวัด

เมล็ดผักหวานป่า0002

เมล็ดสุกของต้นผักหวานป่า

     เริ่มจากดงผักหวานป่าบนยอดดอยของจังหวัดเชียงใหม่ เชื่อมกับดงผักหวานป่าของจังหวัดแม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก เชื่อมไปยังดงผักหวานป่าของจังหวัดลำพูน และจังหวัดลำปาง จากนั้นก็เชื่อมไปยังดงผักหวานป่าของจังหวัดสุโขทัยและจังหวัดอุตรดิตถ์ผ่านไปยังจังหวัดน่านและจังวัดพะเยา ต้นผักหวานป่าในจังหวัดแพร่และเชียงรายมีประปรายไม่ได้มีจำนวนมากเหมือนจังหวัดอื่นๆตามที่กล่าวมาข้างต้น

        

แหล่งเมล็ดพันธุ์ผักหวานป่าอันดับรองลงมาคือ

ภาคกลาง  สระบุรี กาญจนบุรี

ภาคอีสาน นครราชสีมา นครพนม อุดรธานี สกลนคร

 ภาคใต้ กระบี่ สุราษฎร์ธานี 

ในอดีตการแพร่กระจายพันธุ์ผักหวานป่าอาศัยสัตว์พาหนะในการช่วยแพร่กระจายพันธุ์เพียงเท่านั้นแต่ในปัจจุบันมนุษย์สามารถขยายพันธุ์ผักหวานป่าในการนำมาปลูกในบ้านและในสวนได้แล้วและมีวิวัฒนาการและทักษะในการเพาะปลูกที่ดีขึ้นเรื่อยๆสำหรับการเพาะปลูกขยายพันธุ์ผักหวานป่าในแต่ละปี

การขยายพันธุ์ผักหวานป่ามีดังต่อไปนี้

1การปลูกด้วยเมล็ด

2การปลูกด้วยต้นกล้า

3การปลูกด้วยกิ่งตอน

4การขยายพันธุ์โดยการชำราก(ชำไหล)

       การปลูกผักหวานป่าในปัจจุบันไม่ได้ยากเหมือนดังเดิมอีกต่อไปแล้วในอดีตมีการทดลองปลูกด้วยวิธีการต่างๆมากมายส่วนใหญ่จะล้มเหลวตายเป็นส่วนมากแต่ในปัจจุบัน วิวัฒทนาการในการปลูกผักหวานป่านั้นก้าวหน้ามากแล้วจึงทำให้การปลูกผักหวานป่าไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป   

      จากประสบการณ์ภาคสนามของผู้เขียนนานนับสิบปี ในภารกิจตามหาแหล่งเมล็ดพันธุ์ของผักหวานป่าในภาคเหนือ ถึงขั้นรถเสียนอนต้องนอนค้างในป่าก็เคยมีมาแล้ว  จึงมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับแหล่งเมล็ดพันธุ์ของผักหวานป่าในภาคเหนือเป็นอย่างดี การขยายพันธุ์ของต้นผักหวานป่าในป่านั้นจะอาศัยสัตว์พาหนะกินเมล็ดผักหวานป่าเป็นอาหาร ผ่านระบบย่อยอาหาร ​ กระเพาะ ลำไส้ เมื่อสัตว์เหล่านี้ถ่ายมูลที่มีเมล็ดผักหวานป่าปนอยู่เมื่อถ่ายออกมาแล้วก็จะทำให้เกิดการขยายพันธุ์ผักหวานป่า โดยสัตว์พาหนะผู้ช่วยเหล่านี้เช่น ลิง กวาง เนื้อทราย อีเห็น เนื่องจากเมล็ดผักหวานป่ามีความกว้างประมาณ 0.5  นิ้ว ยาวประมาณ 1 นิ้ว  สัตว์และนกขนาดเล็กไม่สามารถกลืนเมล็ดลงท้องได้จึงไม่สามารถเป็นสัตว์พาหนะในการขยายพันธุ์ของต้นผักหวานป่าได้ (ลิง กวาง เนื้อทรายในป่าภาคเหนือปัจจุบันสาบสูญหรือไม่ก็ใกล้สาบสูญแล้วเนื่องจากถูกนนุษย์ล่าไปเป็นอาหาร) ปัจจุบัน อีเห็นจะเป็นสัตว์พาหนะหลักๆที่แพร่ขยายพันธุ์ผักหวานป่า พรานป่าถ้าเจอกองมูลของอีเห็นที่กินเมล็ดผักหวานป่า ก็จะถือว่าโชคดีเพราะไม่ต้องแกะและร่อนเปลือเมล็ดผักหวานด้วยตัวเอง

     ปัจจุบันนั้นมีผู้สนใจปลูกผักหวานป่าเป็นจำนวนมากเนื่องจากเป็นไม้ยืนต้นที่ทนต่อโรคพืชโรคเแมลง ปลูกครั้งเดียวเก็บขายได้ตลอดชีวิตเนื่องจากผักหวานป่าเป็นไม้ป่าที่อายุยืนนับร้อยปี ประกอบกับรสชาติที่อร่อยและสรรพคุณที่มากมาย การที่ถูกขนานนามว่าเป็นราชาแห่งผักพื้นบ้านทั้งปวงจึงเป็นฉายาที่สมเหตุสมผลไม่เกินจริง มีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะพื้นที่ปลูกทางภาคอีสาน ผู้คนให้ความนิยมบริโภคแต่ผลลิตของยอดผักหวานป่า ไม่พอต่อความต้องการโดยเฉพาะผักหวานป่านอกฤดูกาล ซึ่งมีราคาแพงมากแพงกว่าผักทั่วๆไปหลายเท่าตัว